นักวิจัย มวล. คิดค้นบรรจุภัณฑ์ถาดอาหารที่ย่อยสลายได้จากใยไผ่

          ทีมนักวิจัยในห้องปฏิบัติการนวัตกรรมน้ำมันหอมระเหยสำหรับความปลอดภัยในอาหารและบรรจุภัณฑ์นำโดย ผศ.ดร.นฤมล มาแทน อ.ดร.ทนง เอี่ยวศิริ และนางสาวกิติยาสุเหม ซึ่งได้ทำงานร่วมกันกับนักวิจัยของกลุ่มวิจัยคลื่นและการประยุกต์ศูนย์วิจัยความเป็นเลิศนวัตกรรมฟิสิกส์ยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรมเกษตร นำโดย ผศ.ดร.สรศักดิ์  ด่านวรพงศ์ และ ศูนย์ความเป็นเลิศวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมไม้ นำโดย ผศ.ดร.นิรันดร มาแทน พบวิธีการนำใยไผ่มาขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ถาดอาหารโดยการนำเลเซอร์มาช่วยเคลือบสารธรรมชาติบนผิวหน้าของบรรจุภัณฑ์ ซึ่งใยจากต้นไผ่เป็นหนึ่งในวัสดุธรรมชาติที่น่าสนใจและมีความเป็นไปได้สูงมากในการนำมาขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับห่อหุ้มอาหาร ซึ่งใยไผ่มีลักษณะเป็นไฟเบอร์ที่มีความคงตัวและคงทนต่อการเสียดทานรวมถึงทนต่อการกัดกร่อนได้ ทั้งยังสามารถผลิตได้ง่าย และต้นไผ่ยังพบเห็นอยู่ทั่วไปทุกฤดูกาล ทุกภูมิภาค เนื่องจากเป็นพืชที่สามารถขยายพันธุ์ได้ง่าย ทั้งนี้บรรจุภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นนี้จะได้นำมาใช้ในการใส่อาหารเพื่อทดแทนกล่องโฟมและพลาสติก และเพื่อเป็นการเพิ่มคุณสมบัติที่ดีของการเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารในการต้านออกซิเจน และต้านทานการซึมเข้าออกของน้ำระหว่างบรรยากาศภายนอกและอาหาร รวมถึงคุณสมบัติในการต้านทานเชื้อรา ผู้วิจัยได้ทำการปรับปรุงคุณภาพบรรจุภัณฑ์โดยการนำสารธรรมชาติกลุ่มของน้ำมันหอมระเหยที่สามารถต้านทานการเปียกน้ำ รวมถึงเป็นสารที่ใช้ในการป้องกันเชื้อรามาร่วมปรับปรุงคุณสมบัติดังกล่าวของบรรจุภัณฑ์ ทั้งนี้ทีมนักวิจัยได้นำเลเซอร์มาใช้ในการเคลือบสารธรรมชาติดังกล่าวลงบนผิวหน้าของบรรจุภัณฑ์จากใยไผ่พบว่าบรรจุภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นดังกล่าวมีอายุในการใช้งานเพิ่มขึ้นกว่า 1 ปี ก่อนที่จะมีการสลายตัวได้เองตามธรรมชาติ นอกจากนี้จากการทดลองนำวิธีการที่ค้นพบนี้มาออกแบบบรรจุภัณฑ์อาหารเพื่อใช้ในการถนอมอาหารผลิตภัณฑ์ซีเรียลข้าวกล้องพบว่าผลิตภัณฑ์ซีเรียลข้าวกล้องที่ไม่ได้เติมสารกันบูดใดๆมีอายุการเก็บรักษาภายในบรรจุภัณฑ์อาหารจากใยไผ่ที่ผ่านการใช้เลเซอร์ได้นานกว่า 3 เดือนโดยไม่พบการเจริญของเชื้อรา และผลิตภัณฑ์ซีเรียลที่ผ่านการเก็บรักษายังมีคุณสมบัติต่างๆผ่านตามมาตรฐานอาหารอีกด้วย

 

 

อ้างอิงจาก

Kitiya Suhem, Narumol Matan, Nirundorn Matan, Sorasak Danworaphong, Tanong Aewsiri, 2015. Improvement of the antifungal activity of Litsea cubeba vapor by using a helium-neon (HeNe) laser against Aspergillus flavus on brown rice snack bars. International Journal of Food Microbiologydoi.org/10.1016/j.ijfoodmicro.2015.09.008 (Impact factor: 3.082).

แหล่งทุน

 ผลงานวิจัยดังกล่าวได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากทุนงบประมาณแผ่นดินประจำปี 2558 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษกของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Sahifa Theme License is not validated, Go to the theme options page to validate the license, You need a single license for each domain name.