ประวัติหน่วยงาน

น้ำมันหอมระเหยเป็นน้ำมันที่ได้จากการกลั่นด้วยไอน้ำร้อนจากพืชตามธรรมชาติ ซึ่งองค์ประกอบของน้ำมันหอมระเหยที่พบส่วนใหญ่นั้นสามารถย่อยสลายได้ง่ายตามธรรมชาติ ในแง่ความปลอดภัยน้ำมันหอมระเหยหลายชนิดได้อนุญาตให้นำมาใช้ในการแต่งกลิ่นอาหาร เพิ่มรสชาติ และยอมรับในการนำมาใช้ในการรักษาโรคบางชนิด ซึ่งความปลอดภัยของผู้บริโภคขึ้นอยู่กับปริมาณ ความเข้มข้นและชนิดของน้ำมันหอมระเหยที่เลือกใช้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะมีข้อควรระวังในการใช้งานเช่นเดียวกันกับสารเคมีที่นำมาใช้ในการถนอมอาหารโดยทั่วไป ทั้งนี้น้ำมันหอมระเหยได้ถูกยอมรับว่าสามารถใช้ในการถนอมอาหารได้จากองค์กรระดับนานาชาติคือ The US Foods and Drugs Administration (FDA) โดยน้ำมันหอมระเหยได้ถูกระบุว่าเป็น Generally recognized as safe (GRAS) status ซึ่งหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศได้ศึกษาเกี่ยวกับน้ำมันหอมระเหยมาตั้งแต่ พ.ศ.2540 จนถึงปัจจุบัน  ซึ่งทำให้มีความมั่นใจว่าน้ำมันหอมระเหยเป็นสารธรรมชาติที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆมากมายโดยมีความปลอดภัยสูง ซึ่งในปี 2549 ได้มีความต้องการของชุมชนหลายชุมชนที่มีการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอาหารกึ่งแห้งและเส้นใยที่มีที่ตั้งในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ประสบปัญหาการเจริญของเชื้อราบนผิวของหน้าของผลิตภัณฑ์และต้องการให้นักวิจัยในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ให้คำแนะนำด้านวิชาการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งขณะนั้นนักวิจัยได้ให้คำแนะนำพร้อมกับนำน้ำมันหอมระเหยไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่หลายผลิตภัณฑ์ ซึ่งในปี พ.ศ.2552 ได้เปิดรับบัณฑิตศึกษาเพื่อมุ่งเน้นการทำวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับน้ำมันหอมระเหยและการประยุกต์ใช้ จนได้ผลงานจากนักศึกษาอยู่หลายผลงานที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานจริงได้ เช่น บรรจุภัณฑ์ต้านเชื้อราจากเส้นใยไผ่ที่มีน้ำมันหอมระเหย กระดาษห่ออาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยผสมน้ำมันหอมระเหยเป็นสารต้านทานเชื้อรา ผลิตภัณฑ์ไม้ยางพารากลิ่นหอมยาวนาน รวมถึงถาดกระดาษบรรจุไข่ที่มีน้ำมันหอมระเหยในการช่วยลดการเจริญของเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรค เป็นต้น ต่อมาในปี พ.ศ.2555 ได้มีผู้ประกอบการติดต่อเพื่อขอให้พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและบรรจุภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพและปราศจากเชื้อราเพิ่มมากขึ้น นักวิจัยจึงได้ตั้ง“ห้องปฏิบัติการนวัตกรรมน้ำมันหอมระเหยสำหรับความปลอดภัยในอาหารและบรรจุภัณฑ์” ขึ้นมา เพื่อให้บุคคลภายนอกได้รู้จักและได้เปิดเวปไซต์ให้คำปรึกษาด้านวิชาการ โดยความร่วมมือและความช่วยเหลือจากแหล่งทุนต่างๆ คือ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมไม้ และศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์อุตสาหกรรมเกษตร ทั้งนี้ในปี 2560 นี้ นักวิจัยมีความพร้อมในการตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมน้ำมันหอมระเหย เพื่อดำเนินการในการหาความรู้เชิงลึกและประยุกต์ใช้องค์ความรู้เชิงลึกที่ได้ค้นพบเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและบรรจุภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพสูงให้แก่ชุมชนและผู้ประกอบการ

 

 

Sahifa Theme License is not validated, Go to the theme options page to validate the license, You need a single license for each domain name.