รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล มาแทน : ห้องปฏิบัติการนวัตกรรมน้ำมันหอมระเหยสำหรับความปลอดภัยในอาหารและบรรจุภัณฑ์

                                  โลโก้    re11

        รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล มาแทน อาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร และหัวหน้าห้องปฏิบัติการนวัตกรรมน้ำมันหอมระเหยสำหรับความปลอดภัยในอาหารและบรรจุภัณฑ์มีความสนใจและความรักในศาสตร์ของน้ำมันหอมระเหยเป็นอย่างยิ่ง โดยได้ทำวิจัยในหัวข้อนี้อย่างต่อเนื่องจนจบการศึกษาระดับปริญญาเอกและเมื่อมาปฏิบัติงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ก็ได้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการฯ เพื่อทำวิจัยและเป็นฐานพัฒนาองค์ความรู้ในศาสตร์น้ำมันหอมระเหยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ที่สำคัญเพื่อสร้างนักวิทยาศาสตร์ในด้านนี้ให้กับประเทศ

รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล เชื่อว่า ข้อมูลวิทยาศาสตร์เชิงลึกจากห้องปฏิบัติการนวัตกรรมน้ำมันหอมระเหยสำหรับความปลอดภัยในอาหารและบรรจุภัณฑ์เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนสู่ชุมชนและสู่อุตสาหกรรม โดยได้สะสมความรู้ความเข้าใจเชิงลึกของน้ำมันหอมระเหยมามากกว่า 19 ปี จึงมีความตั้งใจพัฒนาความสามารถของนักวิจัยให้สามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกนั้นให้ได้ โดยได้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการนวัตกรรมน้ำมันหอมระเหยสำหรับความปลอดภัยในอาหารและบรรจุภัณฑ์ ในปี พ.ศ. 2555 ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม โซน D1 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

       น้ำมันหอมระเหยเป็นสารธรรมชาติที่สามารถสกัดได้จากพืชหลายชนิด ซึ่งประเทศไทยเป็นแหล่งปลูกวัตถุดิบเพื่อกลั่นน้ำมันหอมระเหยที่สำคัญในระดับต้นๆของโลก และสามารถผลิตน้ำมันหอมระเหยในระดับอุตสาหกรรมเพื่อส่งจำหน่ายทั่วโลก ทั้งนี้น้ำมันหอมระเหยมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวจึงถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ มากมาย เช่น นำมาเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง นำมาใช้บำบัดความเครียดและการนอนหลับ รวมถึงการนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร

       รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล เล่าว่า คุณสมบัติที่น่าทึ่งอย่างหนึ่งของน้ำมันหอมระเหย นอกจากจะให้กลิ่นหอมอ่อนๆแล้ว ไอของน้ำมันหอมระเหยหลายชนิดยังออกฤทธิ์เป็นสารป้องกันเชื้อแบคทีเรีย เชื้อราและยีสต์ได้ โดยเฉพาะเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคกับมนุษย์ที่มักพบปนเปื้อนในอาหาร ดังนั้นทีมนักวิจัยของห้องปฏิบัติการนวัตกรรมน้ำมันหอมระเหยสำหรับความปลอดภัยในอาหารและบรรจุภัณฑ์จึงทำวิจัยเพื่อคิดค้นสูตรน้ำมันหอมระเหยเพื่อใช้ถนอมอาหาร โดยพบว่าน้ำมันหอมระเหยหลายชนิด เช่น น้ำมันหอมระเหยจากดอกจำปี ตะไคร้ต้น และกานพลู เป็นต้น มีฤทธิ์ต้านทานเชื้อจุลินทรีย์ที่สำคัญในอาหารได้ดีมาก จนนำไปสู่การพัฒนาสูตรน้ำมันหอมระเหยต่างๆในห้องปฏิบัติการฯ เพื่อให้สามารถใช้ถนอมอาหารได้จริงกว่า 20 สูตร

        ผลงานวิจัยเกี่ยวกับน้ำมันหอมระเหยต่างๆ เหล่านี้ ได้มาจากการทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ในห้องปฏิบัติการฯ โดยเน้นการศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับกลไกการออกฤทธิ์ของน้ำมันหอมระเหยสูตรต่างๆ และการประยุกต์ใช้งานน้ำมันหอมระเหยเพื่อให้ออกฤทธิ์ในการถนอมอาหารทุกรูปแบบ นอกจากนั้นยังได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้โดยมีน้ำมันหอมระเหยเป็นสารออกฤทธิ์ เช่น ถาดบรรจุไข่ ถุงข้าวหอมป้องกันเชื้อรา ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวนี้ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และชุมชนเกษตร เป็นอย่างมาก จึงอาจกล่าวในเบื้องต้นได้ว่า น้ำมันหอมระเหยมีคุณสมบัติที่ยอดเยี่ยมมากในการนำมาใช้เพื่อป้องกันเชื้อจุลินทรีย์ ทั้งนี้ ทางห้องปฏิบัติการฯ ได้วางแผนเพื่อถ่ายทอดผลงานวิจัยสู่ประกอบที่สนใจในเฟสต่อไป

       รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล เล่าต่อว่า ปัจจุบันทางห้องปฏิบัติการฯ มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ (เฉพาะ ISI) กว่า 30 ฉบับ และในฐานข้อมูลอื่นๆอีกกว่า 20 ฉบับ โดยผลงานของนักวิจัยได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้รับรางวัลผลงานนวัตกรรมระดับเหรียญทองจากการประกวดและจัดแสดงสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ (ITEX) รางวัลพิเศษจากสมาคมสิ่งประดิษฐ์และทรัพย์สินทางปัญญาโลก และรางวัลจากประเทศรัสเซีย เป็นต้น ได้รับทุนวิจัยอย่างต่อเนื่องจากแหล่งทุนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น มูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น ทั้งยังมีการผลิตนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกอย่างต่อเนื่อง (ปัจจุบันมีนักศึกษาบัณฑิตศึกษากว่า 15 คน ทำวิจัยในห้องปฏิบัติการฯ แห่งนี้) โดยนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาทุกคนล้วนได้รับทุนการศึกษาจากแหล่งทุนสำคัญของประเทศ เช่น ทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก) ทุนโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) และทุนบัณฑิตศึกษาจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นต้น

                                           07       06

        “ความสำเร็จทั้งหมดที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลา 4-5 ปี ที่ผ่านมา ล้วนเป็นผลิตผลที่ดิฉันและทีมนักวิจัยในห้องปฏิบัติการฯได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน จึงถือโอกาสนี้ขอบคุณทุกท่านที่สนับสนุนและให้โอกาสนักวิจัยรุ่นใหม่ได้ทำวิจัย ที่สำคัญได้มีโอกาสสร้างห้องปฏิบัติการฯ ในแบบที่เราต้องการ จนทำให้เรามีแรงใจและแรงกายสร้างสรรค์ผลงานสู่สังคมซึ่งการประยุกต์ใช้น้ำมันหอมระเหยเพื่อความปลอดภัยในอาหารและบรรจุภัณฑ์เป็นเป้าหมายที่จะดำเนินการต่อไป" รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล มาแทน กล่าวในตอนท้าย

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับนวัตกรรมน้ำมันหอมระเหยสำหรับความปลอดภัยในอาหารและบรรจุภัณฑ์สามารถเยี่ยมชมเวปไซต์ของห้องปฏิบัติการฯ ได้ที่ https://essentialoil.wu.ac.th/

ประวัติและผลงาน

สมพร อิสรไกรศีล เรียบเรียง

ที่มา: http://www.wu.ac.th/th/news/9488/1

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Sahifa Theme License is not validated, Go to the theme options page to validate the license, You need a single license for each domain name.